Aug 24, 2023
การตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีคืออะไร
การตีตราเอชไอวี หมายถึง ชุดความคิด ทัศนคติและความเชื่อในเชิงลบที่มีต่อผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี เช่น เชื่อว่าเป็นโรคของเกย์ เชื่อว่าเป็นโรคทางศีลธรรม เป็นต้น การตัดสินคนด้วยชุดความคิดที่เอนเอียงหรือผิดพลาดเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกและไม่ถูกยอมรับในสังคม และนำไปสู่การปฏิบัติที่แตกต่าง
การเลือกปฏิบัติ หมายถึง พฤติกรรม (อันเป็นผลมาจากชุดความคิด ทัศนคติ และความเชื่อ หรือ “การตีตรา”) ที่ปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีด้วยมาตรฐานที่แตกต่างออกไปจากผู้ที่ไม่มีเอชไอวี เช่น การจัดให้อยู่คิวสุดท้ายของการรักษา การถูกปฏิเสธการรักษา การกีดกันหรือแยกตัวจากกิจกรรมกลุ่ม รวมถึงการละเมิดสิทธิและการนินทาด้วย
(ที่มา: https://www.cdc.gov)
ผลกระทบที่เกิดจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ
การตีตราและเลือกปฏิบัติส่งผลเสียทั้งต่อการใช้ชีวิตและจิตใจของผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี
ในแง่ของการใช้ชีวิต ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีอาจถูกนินทา ละเมิดสิทธิด้วยการเลือกปฏิบัติด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การถูกให้ออกจากงาน ออกจากสถานศึกษา ปฏิเสธการเข้ารับการรักษา ถูกกีดกันจากสังคมและคนรอบข้างที่ขาดความความใจเกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีที่ถูกต้องในปัจจุบัน เป็นต้น
ในแง่ของจิตใจ ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีจะจินตนาการภาพของตนเองในแง่ลบ โดยอันอับแรกพวกเขาจะรู้สึกกลัวเอชไอวีที่ตนเองได้รับมา ต่อมาพวกเขาจะจินตาการถึงการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกมองในแง่ลบที่สามารถเกิดขึ้นได้ หากพวกเขาเปิดเผยสถานะเอชไอวีของตนเอง ในส่วนนี้เรียกว่า “การตีตราจากภายใน” หรือ “การตีตราตนเอง”
(ที่มา: https://www.cdc.gov)
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการตีตราเอชไอวี
การตีตราเอชไอวีมีรากฐานมาจากความกลัวและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์ ซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่มีการอุบัติของโรคและในยุคที่ไวรัสแพร่กระจาย แต่ยังไม่ทราบสาเหตุและวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง จนมีการตั้งข้อสงสัยและสันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะชุดความรู้ที่คาดเคลื่อนแล้วส่งผลให้เกิดความเชื่อด้านลบต่อไวรัสและโรคชนิดนี้จนถึงปัจจุบัน
ดังนั้น อาจพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า การตีตราเอชไอวีเป็นผลมาจาก “ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมาย การส่งต่อ และการรักษาเอชไอวี”
เช่น เชื่อว่าเอชไอวีสามารถติดต่อได้จากการ่วมรับประทานอาหารกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี หรือตัวอย่างที่พบในปัจจุบันที่เชื่อว่าผู้ที่ได้รับเอชไอวีที่ติดโรคฝีดาษวานรต้องตายทั้ง ๆ ที่มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีที่ได้รับยาต้านจนมีสถานะ U=U แล้วแต่ติดโรคฝีดาษวานรนั้น ไม่ได้มีอาการป่วยรุนแรงอย่างมีนัยยะสำคัญมากไปกว่าผู้ไม่มีเอชไอวี และพวกเขาสามารถหายจากฝีดาษวานรได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ เป็นต้น
(ที่มา: https://www.cdc.gov)
วิธีที่จะนำไปสู่การยุติการตีตราเอชไอวี
- เข้าถึงความจริงเกี่ยวกับเอชไอวี
พื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีจะช่วยทำให้ทุกคนเห็นว่าเอชไอวีไม่ได้น่ากลัว มีวิธีป้องกันที่ให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมากกว่าการใช้ถุงยางอนามัย หรือมีวิธีง่าย ๆ ที่ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีไม่แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 100%
- เรียนรู้ที่จะพูดถึงเอชไอวีให้เป็นเรื่องปกติทั่วไป
โดยปกติแล้ว เอชไอวีเป็นเรื่องที่คนทั่วไปพูดถึงในเชิงล้อเลียนในแง่ลบ เช่น การพบเห็นผู้มีตุ่มผื่นขึ้นหรือผู้ที่ผอมลงอย่างรวดเร็วแล้วหยอกล้อว่าเป็นเอดส์หรือเปล่า พร้อมทำท่าทางรังเกียจ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการผลิตซ้ำอคติเกี่ยวกับเอชไอวีให้กลายเป็นสิ่งน่ากลัว ดังนั้น ควรเปลี่ยนวิธีคิดดังกล่าวแล้วหันมาพูดถึงเอชไอวีให้เป็นโรคทั่วไปที่รักษาได้ เช่นเดียวกับการพูดถึงโควิดในปัจจุบันที่กลายเป็นเสมือนโรคไข้หวัดธรรมดา เช่น คุณอยู่ร่วมกับเอชไอวีหรือ คุณทานยาต้านหรือยัง แล้วคุณเข้าสู่สถานะ U=U แล้วหรือไม่ รู้ไหมว่าผู้มีสถานะ U=U ไม่แพร่เชื้อ 100% เป็นต้น
- เริ่มลงมือที่ตัวเรา
เราสามารถยุติการตีตราเอชไอวีได้โดยเริ่มจากคำพูดในชีวิตประจำวัน และการเป็นตัวอย่างในการเข้ารับการตรวจสถานะเอชไอวีให้เป็นปกติอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
(ที่มา: https://www.cdc.gov)