เกี่ยวกับเรา

โครงการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเชื้อและผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อเอชไอวี
(สตอป สติ๊ก)

Reduce stigma and discrimination against people living with HIV and those affected by HIV
(STOP STIG)

สตอป สติ๊ก คือ โครงการที่มูลนิธิเอ็มพลัสร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 โดยการขับเคลื่อนผ่านการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั่วไปและผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีผ่านสื่อออนไลน์หลากหลายช่องทางและหลายรูปแบบ อาทิ อินโฟกราฟิกความรู้ รายการทอล์ก คลิปสัมภาษณ์ หนังสั้น เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสาธารณสุขในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการและอาสาสมัครเฝ้าระวังการตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

หลักการและเหตุผล   

ประเทศไทยมีการกําหนดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ภายใต้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573” หรือนโยบายการยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS Policy) โดยมีเป้าหมายที่จะยุติเอชไอวีในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ (Thai Getting to Zero) ภายใต้แนวคิด 3 ต.
 ได้แก่ ไม่ติด ไม่ตาย และไม่ตีตรา ภายในปี พ.ศ. 2573

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญในการยุติปัญหาดังกล่าวคือ การตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งมีข้อมูลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ในปี 2563 พบว่าประชาชนยังมีทัศนคติเชิงลบกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีประมาณ
ร้อยละ 48.6 และในปี 2564 พบว่าผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีประมาณร้อยละ 9.9 มีประสบการณ์ถูกตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ และพบว่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของบุคลากรในสถานบริการสุขภาพมีทัศนคติที่ตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี จากประสบการณ์และทัศนคติที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีตัดสินใจไม่ไปเข้ารับบริการรักษากับโรงพยาบาลเพราะกลัว
การถูกตีตราในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนการตีตราตนเองร่วมด้วย

วัตถุประสงค์โครงการฯ

  1. เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวี การป้องกัน สิทธิ ความหลากหลายทางเพศ
    ลดการรังเกียจ กีดกัน เลือกปฏิบัติ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีและผู้ได้รับผลกระทบ
  2. เพื่อให้ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีและผู้ได้รับผลกระทบ ตระหนักและเข้าใจถึงคุณค่าภายในตนเอง สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเข้าถึงและได้รับความช่วยเหลือปกป้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิ
    อันเนื่องมาจากเอดส์และเพศภาวะ
  3. เพื่อพัฒนากลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิและแก้ปัญหาแก่ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี กลุ่มประชากรหลักและผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่
  4. เพื่อพัฒนารูปแบบ (Model) การดำเนินงานลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติกับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี
    และผู้ได้รับผลกระทบ เชิงบูรณาการระดับพื้นที่ สังเคราะห์เป็นเอกสารหรือข้อมูลสำหรับการขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

กิจกรรมโครงการสตอปสติ๊ก

โครงการสตอปสติ๊กได้ดำเนินการผ่านกิจกรรมที่สำคัญ 3 กลุ่มเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อันจะนำไปสู่การตีตราและเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเอชไอวี ได้แก่

  1. การสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อประชาชนในสังคมวงกว้างผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ ได้แก่ Website, Facebook, YouTube, TikTok, Twitter และ Instagram ในหลากหลายประเด็น อาทิ U=U, ส่งเสริมการเข้าถึงบริการตรวจ, การสร้างเสริมพลังบวกและศักยภาพให้กับผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีเข้าใจถึงคุณค่าภายในตนเอง สามารถจัดการปัญหาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเข้าถึงและได้รับความช่วยเหลือปกป้องเมื่อ
    ถูกละเมิดสิทธิอันเนื่องมาจากเอดส์และเพศภาวะ เป็นต้น
  2. การทำกิจกรรมอบรมร่วมกับนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัย อาชีวะ และโรงเรียนมัธยม เพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี สามารถนำข้อมูลไปสื่อสารให้กับคนในครอบครัว ชุมชนได้ และมีความสนใจเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังของโครงการ
  3. การพัฒนากลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิและแก้ปัญหาแก่ผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี กลุ่มประชากรหลักและผู้ที่ได้รับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงานจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน/สถานพยาบาล/ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการทำงานเพื่อลดการตีตรา เลือกปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีและผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ การสร้างอาสาสมัครเฝ้าระวังสถานการณ์ รับเรื่อง ส่งต่อสถานการณ์ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อบรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

6 พฤษภาคม 2566 ถึง 5 พฤษภาคม 2568

กลุ่มเป้าหมาย

วัยรุ่น (13 – 15 ปี) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

เยาวชน (15 – 20 ปี) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

พื้นที่ดำเนินการ

  • พื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างเป็นโมเดลการทำงานระดับจังหวัด ในการขยายเป็นรูปแบบต้นแบบจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป โดยจะเริ่มต้นทำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำครอบคลุมทั้งจังหวัด
  • พื้นที่ออนไลน์ผ่านช่องทางต่อไปนี้ ได้แก่ Website, Facebook, Instagram, YouTube, TikTok